หัวใจทองของปูชนียาจารย์
ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
เลือดที่ไหลเวียนทั่วทั้งร่าง ล้วนส่งผ่านพลังจากหัวใจ หัวใจจึงเป็นขุมพลัง เป็นมวลความรู้สึกและจิตวิญญาณ หัวใจที่แข็งแกร่ง หัวใจที่มุ่งมั่นเพื่อการศึกษาของ ฯพณฯ ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จึงเป็น“หัวใจทอง”
“หัวใจทองเป็นของสมัครเล่น
จะคิดเป็นมูลค่าหาได้ไม่
ค่ามีเท่าที่รู้อยู่แก่ใจ
ของท่านผู้ที่ได้หัวใจทอง”
(ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล)
ร้อยกรองข้างต้นที่กลั่นอักษรจากความรัก บรรจงแต่งสรรค์ของศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จากวรรณกรรมแห่งชาติเรื่องหัวใจทอง ได้สะท้อนให้ทุกคนตระหนักค่าและสร้างสรรค์ความดีงามให้เกิดขึ้นในหัวใจ เมื่อผู้ใดมีความงามที่ถึงพร้อม หัวใจก็จะผุดผ่องดุจ “หัวใจทอง”
หัวใจทองจึงเป็นหัวใจที่เข้มแข็ง แกร่งกล้า ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง ใจจะยังยืนหยัดมั่น แม้ในวันที่ฝนกระหน่ำซ้ำ ใจจะกอดใจให้หายบอบช้ำ แม้ในวันที่ทุกข์ถาโถม ใจจะชโลมใจให้ฉ่ำเย็นแม้ในวันที่ร้อนแล้งเผาไหม้ ดุจศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ครูผู้ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวงในการพัฒนาการศึกษา ครูผู้ตระหนักในหน้าที่ของครูผู้มีหัวใจทองที่มุ่งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ โดยมิคิดเลือกว่าเขาเหล่านั้นจะยากดีมีจน หรือมีอิทธิพลล้นฟ้า นั่นก็เพราะว่า
“เรามีเด็กมากมายหลายประเภท
พึงสังเกตต่างชั้นกันนักหนา
ลูกชาวสวนเล็กเล็กเด็กชาวนา
จนกระทั่งบุตรข้าราชการ
การศึกษาของเด็กพวกใดเล่า
สำคัญเท่าเด็กเด็กที่ทางบ้าน
ไม่สามารถอบรมบ่มสันดาน
ถูกเกณฑ์เข้าประชาบาลตามเวลา”
(ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล)
หัวใจทองของศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ร้อยรักกลั่นเป็นร้อยกรองที่เน้นย้ำให้ครูตระหนักในหน้าที่ “สอนคนให้รู้หนังสือนั้นคือหน้าที่ แต่สอนคนให้เป็นคนดีนั้นเป็นสิ่งที่เหนือกว่า” ฉะนั้นครูจึงเป็นผู้ที่ขัดเกลากะเทาะเปลืองอันขรุขระแห่งชีวิตของเด็ก ๆ ให้หมดสิ้น และยินดีแต่งแต้มเติมเต็มความรู้ให้งอกงาม
ครูมิอาจจะเพิกเฉยกับความเขลา ครูมิอาจจะทานทนต่อความโฉด ฉะนั้นครูจึงต้องใช้หัวใจทองเป็นเกราะอันสำคัญในการฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวง เพราะหากครูละทิ้งศิษย์ โลกทั้งโลกของศิษย์ ก็อาจสูญสลาย เพราะในสายตา ในห้วงคำนึงของศิษย์บางคน “ครูอาจเป็นโลกทั้งใบ และเป็นความสุขเดียวที่หล่อหลอมหัวใจดวงน้อย ๆ ให้กล้าหยัดยืนในโลกใบใหญ่แห่งนี้”
กาลเวลาที่ผันผ่าน ฤดูกาลที่เปลี่ยนผัน สายลมที่พลิ้วไหว ก็มิอาจทำให้ “หัวใจทอง” ของศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สูญสิ้นคุณค่า แต่ “หัวใจทอง” นี้ กลับได้รับการสืบทอด หยั่งราก และผนึกค่าอย่างสถาพร ด้วยเพราะครูคือปูชนียบุคคลอันสำคัญในการสร้างสรรค์เมล็ดกล้าแห่งแผ่นดิน
“ความดีนั้นไม่ตายถ่ายให้ศิษย์
ครั้นชีวิตศิษย์มลายหายไปไหน
กลายเป็นแก่นกิจการงานทั่วไป
ประเทศไทยเฟื่องฟูเพราะครูเอย”
(ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล)
หัวใจทองของศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
จะยังกึกก้องขับขานเหนือกาลเวลา….ตลอดไป
บทสุนทรพจน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิชาหอมฟุ้ง
คณะศึกษาศาสตร์
กล่าวสุนทรพจน์
นายชนกันต์ บุญกิจ
นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ สาขาวิชาฟิสิกส์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร