สัมมนาผู้นำองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร พบผู้นำองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ในโครงการสัมมนาผู้นำองค์กรนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร “เรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ศิลปากร Collaborative Learning to Creative Silpakorn” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 มิถุนายน 2562 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ เพื่อเป็นการการขับเคลื่อนการทำกิจกรรมเพื่อมหาวิทยาลัย โดยมีองค์กรนักศึกษาเป็นผู้ขับเคลื่อนให้นักศึกษาได้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยและการมีส่วนร่วมกับชุมชน
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีกระบวนการในการติดตามผลการทำงานร่วมกับนักศึกษาและการจัดสรรงบประมาณในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายเงิน กระบวนการตรวจสอบการ จัดกิจกรรม กระบวนการในการมีส่วนร่วมของนักศึกษา บุคลากร ชุมชนและการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น
นโยบายกิจกรรมพัฒนานักศึกษา สำหรับยุคการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และ Thailand 4.0 ที่เทคโนโลยีหลอมรวมกับวิถีชีวิต การเชื่อมต่อไร้ขีดจำกัดของคนและของสังคม สามารถจัดการกับข้อมูลและความรู้จำนวนมหาศาลได้ กระแสการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม วัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบริบทมหาวิทยาลัยศิลปากรที่มีการเปลี่ยนแปลงในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ทำให้สถานภาพกฎหมายขององค์กรและบุคลากรเปลี่ยน มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนวิธีทำงานและการสร้างวัฒนธรรมใหม่
กองกิจการนักศึกษา มีแผนการเร่งพัฒนานักศึกษา ให้เกิดทักษะที่จำเป็นตอบโจทย์ความต้องการในยุคThailand 4.0 และสร้าง DNA บัณฑิตของมหาวิทยาลัยกล่าวคือ กิจกรรมนักศึกษายุคใหม่ เป็นกิจกรรมเชิงบูรณาการเพื่อสร้างทักษะต่างๆ ไปพร้อมๆ กันคือ การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ทักษะการคิด เช่น การคิดบูรณาการ (Integrated Thinking) คิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) คิดสร้างสรรค์ (Creativity Thinking) การคิดเพื่อแก้ปัญหา (Problem Solving) และสร้างทักษะการทำงานร่วมกัน (Interpersonal and Collaboration Skill) หรือการทำงานเป็นทีม (Team-Work) เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเกิดทักษะต่างๆในข้างต้นจะต้องมีการวัดผล หรือพิสูจน์ให้ได้ว่านักศึกษา มีทักษะต่างๆเกิดขึ้นจริง สิ่งหนึ่งที่จะวัดผลได้คือ ผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Innovation) ของนักศึกษา หรือการเป็น “นักสร้างสรรค์” (Makers) นั่นเอง หมายความว่า กิจกรรมพัฒนานักศึกษาจะต้องมีกระบวนการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้นักศึกษาเป็น นักสร้างสรรค์ ในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ และการเป็นนักสร้างสรรค์ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ทำให้นักศึกษาสามารถนำสิ่งที่สร้างสรรค์ไปประกอบอาชีพหรือประยุกต์ใช้ได้เลยทั้งวิธีคิด การพัฒนา ต่อยอดผลงาน เท่ากับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสามารถประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องรอให้เรียนจบ (You can succeed even before you graduate)